รีโนเวทบ้านเก่าสองชั้นสไตล์โมเดิร์น สวยแจ่มเหมือนใหม่ ทันสมัยขึ้นเป็นกอง
รีวิวรีโนเวทบ้านเก่า 2 ชั้น 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ สวยงามสไตล์โมเดิร์น ทันสมัยทั้งภายในและภายนอก โอ้โห ดีงามเหมือนได้บ้านหลังใหม่บนโครงสร้างเดิมเลย
สำหรับครอบครัวที่มีงบประมาณจำกัด จะให้ซื้อบ้านใหม่ใจกลางเมืองก็คงไม่ไหว ดังนั้นการซื้อบ้านเก่าแล้วนำมารีโนเวท ใหม่ดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เหมือนอย่างเช่นบ้านสองชั้นหลังนี้ ที่เดิมทีมีสภาพหน้าตาธรรมดา แต่หลังจากได้ คุณ tauhoo สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ลงมือปรับปรุง ก็สวยงามขึ้นมาทันตาเห็น อ๊ะ ๆ ๆ ว่าแต่เขาทำอย่างไร ทำอะไรบ้าง เสร็จแล้วสวยงามแค่ไหน ตามมาชมกันเลยดีกว่า อ้อ ขอแอบกระซิบเลยนะคะว่า เขามีเคล็ดลับและเทคนิครีโนเวทบ้านดี ๆ มาแบ่งปันเพียบเลยล่ะ
:: รีโนเวท :: บ้านใหม่บนโครงสร้างเดิม โดย คุณ tauhoo
สวัสดีครับ กระทู้นี้มีไว้ให้ศึกษาและเป็นตัวอย่างเรื่องการรีโนเวทบ้านพักอาศัย เชื่อว่ามีคนอยากที่จะปรับปรุงบ้านของตัวเองเยอะ แต่ด้วยอาจจะยังหาแนวทางไม่เจอหรือยังนึกไม่ออก ผมจึงอยากจะนำเสนอไอเดียเล็ก ๆ น้อย ๆ เผื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนครับ
สมัยนี้การซื้อบ้านกลางกรุงสักหลังเป็นเรื่องไกลเกินตัวสำหรับคนระดับชั้นสามัญ เพราะราคายากที่จะเอื้อมถึง อย่างน้อย ๆ ก็ผมคนหนึ่ง ที่บอกตรง ๆ ว่าชาตินี้ไม่รู้จะมีปัญญาซื้อได้หรือเปล่า ได้แต่มองตาปริบ ๆ กับราคาอสังหาฯ ในเมืองกรุงที่พุ่งเอา ๆ ซึ่งผมเชื่อว่าตอนนี้กำเงินสิบล้านไปแลก ก็ซื้อบ้านกลางเมืองสักหลังไม่ได้แน่นอน แถมปัจจุบันที่ดินกลางเมืองหายากมาก และก็แน่นอนว่ายิ่งหายากเท่าไร ราคาก็ยิ่งแพงขึ้นไปเท่านั้น ยิ่งถ้าเป็นเส้นที่รถไฟฟ้าพาดผ่านด้วยแล้ว เอื้อมไม่ถึงชัวร์ แต่จะว่าไปก็ตลกนะ ที่ดินเปล่าน่ะแพงขึ้น ๆ แต่สิ่งปลูกสร้างบางอย่างกลับราคายังไม่ขึ้นถึงขนาดที่คนทั่วไปจะแตะไม่ได้ (อย่าไปหาที่มันติดถนนใหญ่ แนวรถไฟฟ้าละกัน) และมีให้เห็นอยู่ดาษดื่นทั่วกรุง ทั้งบ้านเก่าหรือตึกแถวในทำเลที่ดี ๆ ที่เราสามารถนำมาปรับปรุงให้น่าอยู่ และทำให้มันสวยงามเหมือนใหม่ได้
โอ้โห รีโนเวทกันแพงขนาดนี้ ซื้อบ้านใหม่เลยไม่ดีกว่าเหรอ ? ได้จ้า แต่อย่างที่บอก ถ้าจะเอาให้แฟร์ ก็ต้องเทียบกับประโยชน์ใช้สอย สมัยนี้เราจะหาบ้านสักหลังที่มีพื้นที่ใช้สอย 250 ตารางเมตรขึ้นไปได้ในทำเลไหนของเมือง หรือจะซื้อคอนโดในเมืองที่มีขนาด 250 ตารางเมตรได้ที่ราคาเท่าไร เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การรีโนเวทที่หลายคนตกใจกับราคา จึงถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก และสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดก็คือทำเลที่มี
แน่นอนถ้าเราอยากหนีความวุ่นวาย และหนีออกไปใช้ชีวิตชานเมือง ก็ไม่ผิดที่จะเลือกซื้อบ้านใหม่ เพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ถ้าคิดกลับกัน เรายังมีความสุข สนุก และคุ้นชินกับทำเลที่เคยอยู่ ไม่อยากออกไปไหนไกลจากที่เดิม ก็ควรเลือกการรีโนเวท ดังนั้นใครมีบ้านเก่าหรือตึกแถวจึงเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งในการปรับปรุงของมีค่าที่เรามีอยู่ และใช้มันให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
โปรเจกต์นี้เริ่มทำการออกแบบปลายปีที่แล้ว โดยเจ้าของบ้านอยากมีบ้านเล็ก ๆ สักหลังไว้ในเมือง จึงหาซื้อบ้านในทำเลที่สะดวกต่อการเดินทาง ซึ่งเจ้าของบ้านก็ทำการบ้านมาพอสมควรในการเลือกทีมงานออกแบบและตกแต่ง ทั้งยังบอกแนวทางความต้องการ รวมถึงสไตล์ที่ชัดเจน ทำให้การออกแบบค่อนข้างจะราบรื่นและลงตัวถูกใจ (การทำการบ้านของเจ้าของบ้านอันนี้สำคัญ เพราะมันจะทำให้ผู้ออกแบบสามารถนำเสนอผลงานตามที่เจ้าของบ้านต้องการได้อย่างรวดเร็ว)
เริ่มทำการรีโนเวท ประมาณกลางเดือนมีนาคม ใช้ระยะเวลารีโนเวท 6 เดือน โดยยึดตามแบบที่ได้ออกแบบไป ไม่มีการแก้ไขระหว่างหน้างาน อาจจะมีปรับบ้างตามความเหมาะสมของหน้างานตามที่ Designer เสนอ เพื่อให้ทุกอย่างออกมาเหมาะสม โดยสิ่งที่ทำ มีดังนี้
1. รื้อระบบน้ำ-ไฟใหม่
2. เปลี่ยนโครงสร้างหลังคา
3. หลังคาใหม่
4. ผนังใหม่
5. บันไดใหม่
6. จัดวาง Lay Out ใหม่
7. ปูวัสดุพื้นใหม่
8. ทำโรงจอดรถใหม่
9. ทำงานตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ที่จำเป็น
ตัวบ้านเดิมมีลักษณะเป็นบ้าน 2 ชั้น มีระเบียงด้านหน้า หลังคาจั่ว ชั้นล่างก็ตามประสาบ้านทั่วไป ที่จอดรถ ห้องรับแขก ห้องครัว ห้องน้ำ ส่วนชั้นบนมี 2 ห้องนอน และ 1ห้องน้ำ โดยทางเจ้าของบ้านต้องการพื้นที่ใช้สอยบ้านเพิ่มเติม เพิ่มห้องนอนขึ้นมาอีก 1 ห้อง และย้ายห้องน้ำขึ้นชั้น 2 ทั้งหมด
– รูปถ่ายจากด้านหน้าบ้าน
– พื้นที่ภายในตัวบ้าน
– จากที่ได้ฟังความต้องการของเจ้าของบ้านมา เจ้าของบ้านเน้นการตกแต่งส่วนบันไดใหม่ เพราะบันไดเดิมหนักและกว้างเกินความจำเป็น ทำให้เสียพื้นที่ใช้งานไปพอสมควร อีกทั้งยังต้องการทำเป็นบันไดเหล็กด้วย ซึ่งอันนี้ผมก็เห็นด้วย เพราะพื้นที่ของตัวบ้านที่จำกัดนั้น การตกแต่งบันไดให้สวย ผมมองเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งยังเป็นการตกแต่งตัวบ้านไปในตัว และยังเป็นประโยชน์สำหรับการใช้สอยไปในตัวอีกด้วย
– รูปถ่ายของบ้านเดิม
บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่ปลูกเต็มพื้นที่สองข้าง จะมี Set Back เข้ามานิดหน่อย ประมาณข้างละ 40 เซนติเมตร เจ้าของบ้านเลยอยากลดพื้นที่ตัวบ้านลง และอยากมีพื้นที่สีเขียวเล็ก ๆ ในบ้าน รวมทั้งหาที่จอดรถ 1 คันให้ด้วย ง่าย ๆ ก็คือ มีสวนในบ้านที่เป็นพื้นที่ปิดนั่นเอง
– ground floor plan
– second floor plan
– โปรเจกต์นี้เริ่มออกแบบประมาณปลายปี เจ้าของบ้านค่อนข้างทำการบ้านมาดีในเรื่องความต้องการต่าง ๆ เลยทำให้การทำงานง่ายขึ้น การออกแบบจึงจบได้เร็วและตรงตามความต้องการของเจ้าของบ้าน [รู้หรือไม่ : สถาปนิก อินทีเรีย วิศวกร มีค่าบริการสำหรับงานออกแบบ ซึ่งค่าออกแบบเป็นต้นทุนเพื่อใช้ในการออกแบบและเลี้ยงชีพ] โดยแบบก็คือแม่พิมพ์ดี ๆ นี่เอง งานจะออกมาดีหรือไม่ดี แบบมีความสำคัญเป็นอันดับแรก ฉะนั้นเราควรให้ความสำคัญกับงานออกแบบเป็นลำดับต้น ๆ ของงานก่อสร้าง
อีกทั้งแบบยังเป็นตัวกลาง หลักฐาน และกรรมการให้กับเจ้าของบ้านและช่างรับเหมาอีกด้วย ช่วยให้เรารู้ต้นทุนของงบประมาณล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี และแม้จะมีรายการ BOQ แต่หากไม่มีแบบแล้ว โอกาสจะทำ BOQ ให้ถูกต้องไม่มีเลย เพราะทำได้แค่ประมาณการกันเท่านั้น ดังนั้นถ้าสร้างบ้านแบบไม่มีแบบ ก็จะมีโอกาสทะเลาะกันสูง เนื่องจากความเข้าใจคนเราไม่เหมือนกัน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าเหตุใดแบบจึงมีความสำคัญสำหรับมาตรฐานของงานก่อสร้าง
แถมเคล็ดลับ การแก้ไขงานระหว่างการออกแบบ เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการที่สร้างไปแล้วแต่ไม่ถูกใจจึงสั่งรื้อทุบทำใหม่มาก
– หลังจากสรุปแบบและตกลงกันเสร็จสรรพ มหกรรมการรีโนเวทก็เริ่มต้นขึ้น
– หลายคนถามว่า ถ้าหากเราอยากจะรีโนเวทจริง ๆ แต่ระหว่างนั้นไม่รู้จะไปอยู่ไหน เราสามารถรีโนเวททีละชั้นได้มั้ย คำตอบคือมันก็ได้ครับ แต่มันจะไม่สะดวก ทั้งเรื่องช่างที่เข้ามาทำงานในบ้าน ฝุ่นเอย เสียงเอย ความปลอดภัยเอย สิ่งต่าง ๆ พวกนี้ควบคุมได้ยาก ถ้าบ้านมีพื้นที่มากหน่อยก็อาจจะพออยู่ไปด้วยหรือทำไปทีละชั้นได้ครับ แต่ถ้าให้แนะนำหากจะต้องรีโนเวทจริง ๆ ขอบอกว่าหาที่อยู่อื่นชั่วคราวจะดีกว่า
– ด้านหน้าบ้านตัดหลังคาเดิมออก แล้วทำเป็นหลังคาเพิงหมาแหงนจากหน้าไปหลังทีเดียวเลย ส่วนระเบียงด้านหน้าของเดิมที่ไม่ได้ใช้ ก็จัดการต่อเติมออกทำเป็นห้องนอนแทน
– การปรับปรุงตึกแถวในพื้นที่แคบ ๆ มีข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง ทั้งจำนวนช่าง พื้นที่การวางของ และเศษวัสดุที่ต้องขนออกเกือบทุกวัน
– การวางแผนงานเป็นสิ่งสำคัญ โดยเราให้ความสำคัญของแบบก่อสร้างและยึดทำงานตามแบบที่ได้ออกแบบไว้ ฉะนั้นการรีโนเวทจึงต้องวางแผนงานทีละชั้นให้เรียบร้อย และชั้นล่างสุดคือชั้นสุดท้ายที่จะทำการรีโนเวท ส่วนพวกงานระบบต่าง ๆ ใต้ดิน ปรับพื้นผิว วางระบบท่อน้ำ ท่อน้ำทิ้ง สุขาภิบาล ระบบไฟฟ้า ก็จำเป็นต้องทำให้เสร็จเรียบร้อยและมีคุณภาพ ก่อนความสวยงามจะมา
– ระหว่างรีโนเวทก็พยายามจะสร้างกิมมิกให้กับบ้าน อยากจะหาสักมุมให้รู้ว่าอันนี้คือบ้านที่รีโนเวทจากบ้านเดิมนะ ว่าแล้วก็เขียนวงให้ช่างแงะเอาปูนฉาบออกให้หน่อย
ช่าง : พี่แน่ใจนะ ถ้าฉาบคืนผมคิดตังค์นะ
ผม : ไม่รู้เหมือนกันจะสวยมั้ย แต่ทำไปเถอะ
– ช่างทำไปพลางบ่นไป
– ในตัวบ้านมีการใช้ช่องลมเข้ามาตกแต่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทและมีแสงจากธรรมชาติเข้ามา ส่วนโถงบันได ทุบผนังบันไดเดิมทิ้งและใส่บล็อกแก้วเข้าไปเป็นผนังแทน เพื่อจะได้แสงสว่างเข้ามาในตัวบ้าน
– หน้าบ้าน ใช้ประโยชน์จากระเบียงเดิมที่มีอยู่ แบ่งห้องทำเป็น 2 ห้องนอนด้านหน้า
– การรีโนเวทหลังนี้ใช้เวลาเกือบ 7 เดือน อาจจะเพราะยึดตามแบบ ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนหน้างานมากนัก จึงทำให้งานราบรื่นไปด้วยดี ถ้าเทียบจากรูปของบ้านเดิมบนพื้นที่เดิม การเพิ่มเติมอีกนิดหน่อยและการใช้สีสันก็ช่วยทำให้บ้านดูหลังใหญ่กว่าเดิมได้ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วทุกอย่างก็อยู่บนบ้านเดิมนั่นแหละ
– หลักการทำบ้านหลังนี้คือ พยายามเติมแสงสว่าง ทั้ง Direct (แสงธรรมชาติ) และ Indirect (แสงประดิษฐ์) เข้าไปให้ดูอบอุ่น น่าอยู่ เพียงเท่านี้จากตึกแถวเก่า ๆ ทึม ๆ ห้องแคบ ๆ ก็กลายเป็นบ้านหลังเบ้อเริ่มใจกลางเมือง ที่สะดวกสบายต่อการเดินทาง การใช้ชีวิตที่คุ้นเคย และยังทำให้อยากอยู่บ้านหลังใหม่ขึ้นไปอีกนาน
– การจัดวาง Circulation ดี ๆ สำคัญมาก ตัดพื้นที่ว่างที่ไม่จำเป็นออกไป เพราะจะทำให้เราได้พื้นที่ใช้สอยได้มากขึ้นอย่างที่เราไม่คาดคิดมาก่อน
– พื้นที่ภายในบ้านเหมือนกับพื้นที่เดิมทุกอย่าง ที่เพิ่มเติมเข้าไป คือ การจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ให้เหมาะสม ทั้งพื้นที่ใช้สอยและพื้นที่ทางเดิน จึงช่วยเปลี่ยนจากบ้านที่ดูคับแคบ เป็นบ้านมีพื้นที่กว้างกว่าเดิม
– บ้านหลังนี้เน้นเรื่องบันไดเป็นพิเศษ จากโครงสร้าง ค.ส.ล. มาเป็นบันไดเหล็ก ลูกบันไดเป็นไม้ประสาน ด้วยเหตุผลเรื่องของพื้นที่การสร้างกิมมิกให้กับบ้าน
– และแน่นอน เราไม่พลาดที่จะทำการทดสอบ
– มาดูงาน Interior กันบ้าง บ้านหลังนี้เจ้าของบ้านขอเน้น เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว มากกว่างานบิวต์อิน นี่เป็นห้องรับแขกและห้องอาหาร เจ้าของบ้านขอโต๊ะใหญ่ที่ติดกับครัวเป็นโต๊ะกินข้าวไปในตัว
– มุมจากบันไดมองออกไปหน้าบ้าน
– โถงบันได (ยังไม่ได้ติดราวบันไดนะครับ อย่าตกใจ)
– Master Bedroom
– ห้อง Master Bedroom ในห้องนอนแต่ละห้องจะเน้นเรื่องแสงสว่างเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้ห้องรู้สึกมืดและทึบ
– ทางเดินที่ปรับให้กระชับตามพื้นที่และแสงสว่าง
– ใช้บล็อกแก้วเพราะต้องการแสงสว่าง และทำเป็นกำแพงไปในตัว
– หลังจากที่ปลุกปล้ำกับโถงบันได เห็นแล้วก็ชื่นใจทั้งเจ้าของและคนทำ
– ห้องนอนหน้าบ้านที่ขยายออกมาจากระเบียง
– ระเบียงเล็ก ๆ สำหรับหน้าบ้าน
– ห้องครัวที่พร้อมสำหรับการทำอาหาร แต่คงไม่เหมาะนักถ้าจะผัดกะเพรา
– ห้องน้ำที่ตกแต่งใหม่
– รูป Before&After จากหน้าบ้าน
– รูป Before&After หลังจากที่ตกแต่งเสร็จ
– ขอบคุณทีมงานทุกคนที่ช่วยกันรีโนเวทบ้านหลังนี้จนสำเร็จไปด้วยดี และขอบคุณสำหรับเวลาอ่านที่เสียไปนะครับ หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ให้กับหลาย ๆ คนที่มีบ้านเก่าหรือตึกแถวเก่า แล้วอยากจะรีโนเวทปรับปรุงใหม่ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านนะครับ ขอบคุณครับ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ tauhoo สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม
รับรีวิวโครงการบ้านใหม่ คอนโดเปิดตัว ของแต่งบ้าน อุปกรณ์ของใช้ในบ้าน หรืออื่น ๆ รับทำการตลาดด้วย Social Network, Content Marketing คลิกเลย