วิธีเก็บอาหารหน้าร้อน ให้อยู่ได้นาน ปลอดภัย ไม่บูดง่าย !

แชร์วิธีเก็บอาหารหน้าร้อน ให้อยู่ได้นาน ๆ ทั้งของสดและอาหารปรุงสำเร็จ เก็บข้ามคืนได้ไม่เน่าเสีย 

วิธีเก็บอาหารหน้าร้อนให้อยู่ได้นาน

เนื่องจากหน้าร้อนทำให้อาหารบูดได้ง่ายกว่าปกติ เพราะเชื้อโรคต่าง ๆ เติบโตได้ง่าย หากเผลอวางไว้แป๊บเดียวยังไม่ได้เอามากินก็อาจจะบูดซะแล้ว วันนี้เลยรวมวิธีเก็บอาหารหน้าร้อนให้อยู่ได้นาน ๆ มาฝาก ทั้งของสดและอาหารปรุงสุก แถมยังสะอาดปลอดภัยกับสุขภาพ ไม่ต้องกลัวท้องเสียอีกด้วย 

ล้างมือให้สะอาด

เรื่องง่าย ๆ แต่หลายคนอาจจะมองข้ามไป นั่นก็คือ การล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาที ทั้งก่อนและหลังหยิบจับอาหาร โดยเฉพาะเนื้อดิบ ผลิตภัณฑ์นม ผลไม้ และผัก การล้างมืออย่างถูกต้องสามารถป้องกันโรคท้องร่วงและการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ 

ล้างผัก-ผลไม้ก่อนกินทุกครั้ง

วิธีเก็บผักผลไม้สด

ถ้าเป็นผักหรือผลไม้มีเปลือกสามารถใช้แปรงขัดให้สะอาดก่อนล้างด้วยน้ำไหล หรือแช่ในน้ำส้มสายชูผสมน้ำ เพื่อขจัดสิ่งสกปรก แบคทีเรีย และยาฆ่าแมลง

แต่หากต้องการล้างเก็บไว้กินทีหลัง ควรให้ผักสะเด็ดน้ำหรือเช็ดเปลือกผลไม้ให้แห้งก่อนเก็บ เพื่อป้องกันการเน่าเสีย จากนั้นเก็บใส่ภาชนะที่รองด้วยกระดาษทิชชูหรือผ้าขาวบาง และมีฝาปิดมิดชิด

แช่เนื้อสดในอุณหภูมิที่เหมาะสม

วิธีเก็บเนื้อสัตว์

เนื้อสัตว์ต้องเลือกซื้อที่สดใหม่ โดยเลือกซื้อในร้านที่ดูสะอาด ปลอดแมลง หรือสัตว์พาหะต่าง ๆ ก่อนเก็บต้องนำมาล้างทำความสะอาด หรือแบ่งเป็นส่วน ๆ ตามปริมาณที่กินในแต่ละครั้ง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องนำเข้า-ออกจากตู้เย็นบ่อย ๆ เพราะยิ่งอุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ ยิ่งทำให้อายุการเก็บสั้นลง

โดยอุณหภูมิในการจัดเก็บเนื้อสดควรอยู่ที่ 0-2 องศาเซลเซียส และเก็บในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดเพื่อป้องกันสิ่งสกปรก หรือแช่ในช่องแช่แข็งก็จะเก็บได้ยาวนานขึ้น (ประมาณ 3-6 เดือน) และหากนำอาหารจากช่องแช่แข็งออกมาละลายแล้วควรกินให้หมด 

ที่สำคัญไม่ควรรวมเนื้อสัตว์ดิบกับปรุงสุกเก็บไว้ด้วยกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อน ควรใช้เขียง ภาชนะ และจานแยก สำหรับอาหารดิบ ทั้งนี้ อย่าลืมล้างมือก่อนและหลังสัมผัสเนื้อสัตว์ดิบ

เก็บอาหารปรุงสุกให้ถูกต้อง

วิธีเก็บอาหาร

อาหารที่เพิ่งผ่านการปรุงสุก ควรกินให้หมดภายใน 2-4 ชั่วโมง แต่ถ้าอาหารที่ปรุงสุกเป็นอาหารที่อาจบูดเสียได้ง่าย เช่น อาหารทะเล แกงกะทิ ขนมกะทิ เป็นต้น ควรกินให้หมดภายใน 2 ชั่วโมง หากกินไม่หมดสามารถนำไปแช่ตู้เย็นในช่องธรรมดาได้ประมาณ 3-4 วัน และก่อนนำมากินควรอุ่นที่อุณหภูมิประมาณ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป นาน 2 นาทีขึ้นไป เพื่อให้อาหารร้อนทั่วถึงกัน

เช็กวันหมดอายุเสมอ

วิธีดูวันหมดอายุ

อาหารแต่ละชนิดมีวันหมดอายุต่างกัน โดยเฉพาะผักสดและเนื้อสัตว์ ถ้าไม่เก็บไว้ในตู้เย็นหรือช่องแช่แข็งอาจทำให้อาหารเน่าเสียได้ ส่วนของแห้งก็ควรนำไปทิ้งหากหมดอายุแล้ว

หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์ครัว

ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ หรือของใช้ในห้องครัว ควรทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้เสร็จ เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ชั้นดีของเชื้อโรคและแบคทีเรียเลยล่ะ

อ่านเพิ่มเติม : 15 วิธีทำความสะอาดห้องครัวอย่างล้ำลึก หมดจดทุกตารางนิ้ว

          ใครอยากจะเก็บอาหารในหน้าร้อนมาส่องดูวิธีที่เราแนะนำกันได้เลย ถ้าจัดเก็บอาหารได้อย่างมีคุณภาพ อาหารจะไม่บูดเน่าและมีความปลอดภัยต่อสุขภาพด้วยค่ะ
บทความเกี่ยวกับ วิธีเก็บอาหาร ที่น่าสนใจ :

ไขข้อสงสัย จัดอาหารในตู้เย็นยังไง วางตรงไหน แต่ละชนิดแช่ได้กี่วัน ?
หยิบออกด่วน ! อาหาร 16 ชนิดที่ไม่ควรแช่ไว้ในตู้เย็น
15 วิธีเก็บผักสด ให้กินได้นาน แช่ตู้เย็นเป็นเดือนก็ไม่เน่า

ขอบคุณข้อมูลจาก : onemedical.com, mahidol.ac.th และ anamai.moph.go.th

You may also like...