สูตรปุ๋ยหมักพระราชทาน ทำใช้เอง ไว้ปลูกต้นไม้และบำรุงดิน
สูตรปุ๋ยหมักพระราชทาน โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วิธีทำปุ๋ยใช้เองจากซากพืช เช่น เศษใบไม้ สำหรับบำรุงดิน ช่วยให้ดินร่วนซุย อุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับปลูกต้นไม้
ภาพจาก กรมพัฒนาที่ดิน
ต้นไม้ทุกชนิดต้องการอาหาร เพื่อการเจริญเติบโต พูดง่าย ๆ เราต้องใส่ปุ๋ย ไร่นา สวน ของเรา พืชผล จึงจะงามดี เดี๋ยวนี้ปุ๋ย ที่ซื้อตามท้องตลาดแพงเหลือเกิน เรามาทำปุ๋ยหมักใช้เองดีกว่า
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ช่วงนี้มีหลายคนใช้เวลาอยู่บ้าน และปลูกต้นไม้กับมากขึ้น วันนี้กระปุกดอทคอมเลยขอนำสูตรปุ๋ยหมักมาฝาก เป็นสูตรปุ๋ยหมักพระราชทาน โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานไว้เป็นองค์ความรู้ให้กับคนไทย นอกจากจะสามารถใช้บำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกต้นไม้แล้ว ยังเป็นการช่วยลดขยะอินทรีย์ เช่น เศษใบไม้และหญ้าแห้งได้อีกด้วย เอาเป็นว่าหากสนใจอยากลองทำปุ๋ยใช้เองแล้วละก็ ตามไปชมวิธีทำกันเลยค่ะ
วัสดุทำปุ๋ยหมัก
1. ซากพืช เช่น เศษใบไม้ หญ้าแห้ง ผักตบชวา ลำต้นถั่ว ลำต้นข้าวโพด ใบและต้นมันสำปะหลัง กระดูกป่นตามที่มี สับเป็นท่อน ๆ สั้น ๆ ให้เปื่อยเร็ว
2. ปุ๋ย
– ปุ๋ยคอก คือ มูลสัตว์ เช่น ขี้วัว ขี้ควาย ขี้เป็ด ขี้ไก่ ขี้ค้างคาว อะไรก็ได้
– ปัสสาวะคนหรือสัตว์
– กากเมล็ดนุ่น กากถั่ว ซากพืชตระกูลถั่วหรือถั่วชนิดต่าง ๆ
3. ดินร่วน พอสมควร ถ้าเป็นหน้าดินยิ่งดี
วิธีทำปุ๋ยหมัก
1. กองในหลุม โดยขุดหลุมกว้างราว 1 เมตร ยาว 1 เมตร ลึก 1 เมตร ระหว่างขุดให้ระวังดินทลายลงในหลุม ถ้ามีการระบายน้ำได้ยิ่งดี ทั้งนี้หากถ้าที่เป็นดินทราย ให้ใช้อิฐกรุในหลุมจะทำให้ได้ผลดีขึ้น
2. กองในคอก ปรับดินบริเวณที่จะกองปุ๋ยหมักให้แน่น ใช้ไม้ไผ่หรือไม้อื่นที่ทำได้ กั้นเป็นคอกกว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 1 เมตร แบ่งคอกออกเป็น 2 ส่วน ครึ่งหนึ่งไว้ใส่ปุ๋ยหมัก ส่วนอีกครึ่งหนึ่งไว้กลับกองปุ๋ยหมัก ทำหลังคาใบจากหรือใบมะพร้าวคลุมหลังคา ถ้ามีถุงพลาสติกคลุมกันฝนชะปุ๋ยก็ดี
3. เอาซากพืชที่เตรียมไว้ กองเกลี่ยในคอก (หรือในหลุม) ให้เป็นชั้น เหยียบตามขอบให้แน่น ชั้นหนึ่ง ๆ สูงราว 30 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่ม แล้วเอาปุ๋ยคอกโรยทับให้ทั่วกัน สูง 5 เซติเมตร ถ้ามีปุ๋ยเคมี (สูตร 16-20-0 หรือสูตร 14-14-14 หรือแอมโมเนียมซัลเฟ หรือยูเรีย) ก็โรยบาง ๆ ให้ทั่ว แล้วทับด้วยดินละเอียดหนาประมาณ 2.5 เซนติเมตร สลับด้วยซากพืชแล้วรดน้ำทำเป็นชั้น ๆ อย่างนี้จนปุ๋ยเต็มคอก (น้ำที่รดจะผสมด้วยปัสสาวะก็ได้)
ข้อควรระวังการทำปุ๋ยหมัก
1. อย่าให้มีน้ำขัง การรดน้ำมากไปจะทำให้ระบายอากาศไม่ดี
2. ปุ๋ยกองใหญ่ไปจะเกิดความร้อนสูง ปุ๋ยจะเสีย ถ้าในกองปุ๋ยมีความร้อนสูงเกินไปให้เติมน้ำลงไปบ้าง
3. ปุ๋ยกองเล็กไป จะสลายตัวช้า
4. อย่าใช้ปุ๋ยเคมีพร้อมกับใส่ปูนขาว เพราะจะทำให้ธาตุไนโตรเจนสลายตัว
การกลับปุ๋ยหมัก
ควรกลับปุ๋ยหมักทุก ๆ 30 วัน โดยเอาชั้ยนสุดของกองนำไปเกลี่ยในอีกส่วนของคอกเป็นชั้นล่างสุด แล้วเอาชั้นสองเกลี่ยทับแล้วรดน้ำ และทำการกลับปุ๋ยจนกว่าซากพืชจะเปื่อยผุหมดทั้งกอง กินเวลา 3-4 เดือน เมื่อปุ๋ยใช้ได้ สังเกตจากความร้อนในกองจะใกล้เคียงกับความร้อนของอากาศ ปุ๋ยหมักจะเป็นสีน้ำตาลแก่ เอาตะแกรงร่อนปุ๋ยหมักเก็บไว้
ประโยชน์ปุ๋ยหมัก
ปุ๋ยหมักมีประโยชน์มากมาย นอกจากจะช่วยประหยัดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ครึ่งหนึ่งแล้ว ปุ๋ยหมักยังช่วยบำรุงดิน ทำให้ดินร่วนซุย อุดมสมบูรณ์ เป็นการเพิ่มธาตุไนโตรเจนไปในตัว แถมไม่เป็นอันตราย และยังช่วยรักษาความชุ่มชื่นในดินอีกด้วย
คราวนี้ก็ได้ทราบกันไปแล้วสำหรับ สูตรปุ๋ยหมักพระราทาน ไว้ใช้ทำปุ๋ยหมักเองที่บ้าน สำหรับใส่บำรุงดินเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นกับพืช ไว้ปลูกต้นไม้ให้เจริญงอกงาม แถมยังช่วยลดขยะประเภทขยะอินทรีย์ได้อีกทางหนึ่งด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมพัฒนาที่ดิน และ เฟซบุ๊ก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม